สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาต่อกันในหัวข้อการตลาดออนไลน์ หัวข้อย่อย Facebook Ads: ค่า Inbox แพง และวิธีแก้ไข ตอนที่ 2
สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่านตอนที่ 1 สามารถอ่านได้ที่นี่
เรากำลังพูดคุยกับคุณ Piroon Mahakunakorn หรือ “คุณหมู” ผู้ร่วมเวิร์กชอปที่เชี่ยวชาญในการทำเว็บไซต์และโฆษณาออนไลน์ มีประสบการณ์ในสายงาน Digital Agency ร่วม 10 ปี มาแบ่งปันความรู้ในเรื่องของ Facebook Ads ค่ะ
จากครั้งก่อนที่คุณหมูแนะนำว่า มีอยู่ 2 ปัจจัยที่ช่วยลดปัญหาค่า Inbox แพง นั่นก็คือ 1 รู้ว่าใครคือลูกค้าเรา ซึ่งได้อธิบายไปอย่างละเอียดแล้วในตอนที่ 1 และ 2 การเลือกกลุ่มความสนใจบน Facebook
สำหรับครั้งนี้ อยากให้คุณหมูช่วยอธิบายการเลือกกลุ่มความสนใจบน Facebook ที่ส่งผลให้ค่า Ads ถูกลงให้ฟังหน่อยค่ะ
ได้ครับ การเลือกกลุ่มความสนใจบน Facebook หรือที่เรียกว่า Interest ข้อแรกที่เราต้องรู้คือ Facebook จัดแยกประเภทความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่เรากำลังมองหา ผ่านไลฟ์สไตล์ของเขาครับ

ทีนี้ใน 1 คนจะมีความสนใจหลายอย่าง ยกตัวอย่างกลับไปที่ใครคือลูกค้าของเราในตอนที่ 1 วิธีการส่วนตัว ผมจะค่อยๆจินตนาการไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละประเภทขึ้นมา
ยกตัวอย่าง ถ้าสินค้าของเราต้องการขายลูกค้าผู้ชายที่มีกำลังซื้อระดับกลางค่อนไปทางสูง ชอบตกรางวัลตัวเองด้วยสินค้าแบรนด์เนม ลูกค้าผู้ชายของเรากลุ่มนี้น่าจะมีไลฟ์สไตล์ยังไง เราก็ List ออกมา
เช่น นาย A มีอายุประมาณ 24 – 34 ปี เรียนจบปริญญาตรี ทำงานแล้ว เป็นคนที่แต่งตัวดูภูมิฐาน ใส่แว่นกันแดด Gucci นาฬิกา GC เสื้อผ้า LTD รองเท้า Dapper ฉีดน้ำหอม Dior ชอบนั่งคิดงานตามร้านกาแฟ Starbuck กิจกรรมที่ชอบทำ อ่านหนังสือ เที่ยวต่างจังหวัดบ้างเป็นครั้งคราว แต่ชอบไปตามที่ที่คนไม่เยอะ เช่นภูเขา เข้าสังคมบ้างแต่ไม่บ่อย ชอบดื่มเบียร์ Stella Artois
พอได้ไลฟ์สไตล์ออกมาแล้ว ก็เริ่มแตกความสนใจที่ใกล้เคียงออกมาอีก เช่นแบรนด์เสื้อผ้าที่ใกล้เคียงกับ LTD เช่น Gap, Polo น้ำหอมแบรนด์ที่ใกล้เคียง Dior เช่น Montblanc, Jean Paul Gaultier นาฬิกาแบรนด์ที่ใกล้เคียง GC เช่น Mido, Citizen, Issey Miyake เป็นต้น ค่อยๆเพิ่มไปเท่าที่นึกออก
พอได้ความสนใจที่เราต้องการนำไป Set ใน Facebook Ads แล้ว เราก็นำความสนใจที่ได้ไปเช็กความแม่นยำอีกที ด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า Facebook Audience Insight ครับ
เหตุผลที่ต้องนำไปเช็กความแม่นยำก่อน เพราะเราอาจจะคิดว่าเราหาความสนใจได้ตรงแล้ว แต่ความจริงอาจจะไม่ หรือการเก็บ Data ของ Facebook จากพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ไม่แม่นยำพอ
ที่บอกว่า Facebook เก็บ Data อาจจะไม่แม่นยำพอตามพฤติกรรมของผู้ใช้ ผมจะขอขยายความต่อหลังจากอธิบายวิธีใช้ Facebook Audience Insight นะครับ

ลองดูตามภาพด้านบนก่อนครับ จากในภาพ ผมเช็ก Data ความสนใจ “Lazada”
ถ้าไม่ได้มีการเช็ก Data มาก่อน ผมก็จะคิดว่า Data ความสนใจของเว็บไซต์ Lazada จะต้องมีแต่คนที่สนใจการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่จากภาพที่ผมทำกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงไว้ จะเห็นว่า Data ที่ Facebook เก็บมาของความสนใจ Lazada ไม่ได้มีแต่คนที่สนใจซื้อสินค้าออนไลน์นะครับ แต่จะมีผู้ประกาศข่าว, ร้านขายนมสด หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลศัลยกรรม ซึ่งหากเราเอาความสนใจ Lazada ไป Set ใน Ads โฆษณาอาจจะไปเจอแต่กลุ่มที่สนใจทำศัลยกรรม หรือคนที่หาร้านขายนมสดอย่างเดียวก็ได้ครับ
นี่เป็นสาเหตุที่หลายๆคนชอบบ่นกันว่า ยิง Ads ไปแล้ว โฆษณานำส่งกับคนที่ไม่ตรงกลุ่ม โฆษณาไม่แม่น เสียค่า Ads แพง ขายของไม่ได้เลย แน่นอนว่า เมื่อ Data ไม่แม่น Ads ก็ย่อมส่งไปไม่ถูกกลุ่มลูกค้าเราเป็นธรรมดาครับ
ในกรณีของค่า Inbox แพงก็มาจากสาเหตุเดียวกันนี้ อย่างที่ได้อธิบายไปในตอนที่ 1 ว่าค่า Inbox ถูกหรือแพงคำนวณมาจากค่า CPM แล้วมาแปลงค่าเป็นค่า Inbox อีกที ดังนั้นเมื่อกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ตรง เขาก็จะไม่หยุดดู Ads ของเรา และราคาต่อ Inbox ก็แพงแถมยังปิดการขายไม่ได้ ส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเจอคนทักเข้ามาว่าสนใจ พอเราตอบกลับไปก็หายไปเลย (ที่คนยิง Ads หลายๆคนชอบเรียกว่า “ผี” หรือ “มือลั่น”)
ส่วนเรื่องการเก็บ Data ใน Facebook ที่ว่าไม่ค่อยแม่นเพราะอิงจากพฤติกรรมคนด้วยครับ ยกตัวอย่างเรื่องการกด Like เพจ หรือ Post เท่าที่ผมสังเกต เราคนไทยส่วนมากกด Like โดยที่ไม่ได้ชอบหรือตั้งใจจะติดตามจริงๆ แต่มาจากความต้องการที่จะสนับสนุนเพจของคนรู้จักบ้าง เล่นเกมผ่านเพจต่างๆ ที่มีกติกาว่าต้องกด Like เพจและ Share บ้าง (สมัยก่อนทำกันแทบทุกเพจ) หรือสถานะเช่น โสด, แต่งงานแล้ว หลายคนก็มักจะใส่ไม่ค่อยตรง หรือไม่ได้อัปเดต มันเลยทำให้ระบบของ Facebook เก็บข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปได้ครับ
การแบ่งระดับความแม่นยำของกลุ่มเป้าหมายของ Facebook นี้มีตั้งแต่ไม่ตรงเลย ตรงบ้าง หรือที่ตรงมากก็มี ดังนั้นเครื่องมือ Facebook Audience Insight นี้จะให้คำตอบกับเราได้ครับ
ขอบคุณมากเลยค่ะ ฟังจากที่คุณหมูอธิบายแล้ว Facebook Audience Insight นี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดการผิดพลาดของการวางแผนทำโฆษณาได้ดีทีเดียว ท่านไหนยังไม่เคยใช้ อยากให้ลองใช้กันดูนะคะ ไม่ทราบนอกจากนี้คุณหมูยังมี Tip อื่นๆอยากแบ่งปันเพิ่มไหมคะ
ได้เลยครับ เรื่องการ Set ความสนใจต่อนะครับ ส่วนตัวเวลาผม Set ความสนใจ ผมจะไม่ Set กลุ่มความสนใจที่เป็นคนละประเภทกัน แต่จะจัดความสนใจไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกันครับ
อย่างเช่นถ้าผม Set กลุ่มความสนใจเป็นแบรนด์ Zara ผมก็จะไปหาว่ามีแบรนด์ไหนอีก ที่มีความใกล้เคียง เช่น Mango, H&M แล้วผมก็จะใส่เพิ่มเข้าไป หรือให้ระบบ Facebook แนะนำกลุ่มความสนใจที่ใกล้เคียงให้ด้วย ซึ่งเราก็ควรจะใส่เข้าไปตามที่เราเห็นว่าเหมาะสม

ความสนใจใกล้เคียงที่ Facebook แนะนำมานี้เราก็ควรเช็กผ่าน Facebook Audience Insight อีกรอบด้วยใช่ไหมคะ ?
ใช่ครับ ความสนใจที่เราจะ Set เข้าไปเราต้องเซ็กทุกตัว ทุกครั้งครับ เหตุผลที่เราควรหมั่นมาเช็กบ่อยๆ เพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอด
และสิ่งที่ไม่ควรทำคือการ Set กลุ่มความสนใจคนละประเภทและ Test ในคราวเดียวกัน เช่นแบรนด์ Nike, และสายการบิน WestJet เพราะการ Set แบบนี้ ถึงต่อให้มียอดขายเกิดขึ้น เราก็วิเคราะห์ยาก ไม่รู้ว่ายอดมาจากความสนใจกลุ่มไหน แต่ถ้าเราจัดกลุ่มความสนใจเป็นหมวดหมู่ และ Test ทีละหมวดหมู่ ถ้ามันเวิร์ก เราก็จะรู้แล้วว่าหมวดหมู่ไหนใช้ได้ เราก็ทุ่มเวลาไปที่การทำ Content เพื่อมายิง Ads ต่อได้เลย ส่วนหมวดหมู่ไหนไม่ได้ผล เราก็ตัดทิ้งได้ทันทีครับ
ครั้งนี้ผมขอฝากไว้เท่านี้ ลองกันแล้วได้ผลยังไงกลับมาบอกผมบ้างนะครับ
ขอบคุณคุณหมูมากเลยค่ะ ที่สละเวลามาแบ่งปันกระบวนการคิดและเทคนิคดีๆในการทำโฆษณา Facebook หวังว่าเนื้อหาในครั้งนี้จะช่วยให้ทุกท่านที่ติดตามอ่าน มีแนวทางในการทำ Ads ที่ชัดเจน ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยปิดการขายได้ดีขึ้นค่ะ
สำหรับท่านที่มีคำถามเพิ่มเติม สนใจอยากติดตามหรือพูดคุยกับคุณหมู สามารถติดต่อคุณหมูได้ทาง Facebook: Piroon Mahakunakorn